ข้อเสียของการเรียนหมออย่างนึงคือ
กว่าที่เราจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบนั้น มันสายเกินกว่าที่จะกลับตัวง่ายๆ แล้ว
เพราะชีวิตหมอจริงๆ มันไม่ได้เริ่มที่เราสอบเอ็นทรานซ์ติดแพทย์
แต่มันคือการเริ่มขึ้น clinic (หมายความว่าเริ่มได้ดูคนไข้จริงๆ) ตอนปี 4
แต่ในขณะที่ปี 4 เพื่อนๆ คณะอื่นๆ เค้าเตรียมตัดชุดครุยแล้ว แต่เรากลับต้องเป็นน้องเล็กสุดในหอผู้ป่วย
เล็กมาก จนบางครั้งอาจเล็กกว่าผู้ช่วยพยาบาลเสียด้วยซ้ำ
แต่ก็ดีครับ มันทำให้เราเรียนรู้อะไรต่างๆ มากกว่าที่ในหนังสือเขียนไว้
โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวและการใช้ชีวิตบนหอผู้ป่วย
เรียนรู้การเติบโต และการทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยเอาผลประโยชน์ของคนไข้เป็นที่ตั้ง

เกริ่นมาพอแล้ว เราลองมาดูชีวิตของนักเรียนแพทย์ในชั้น Clinic ดีกว่า โดยเฉพาะปี 4-5
(รูปและข้อมูลส่วนมากเอามาจากบล๊อกเดิม โดยเป็นรูปที่ถ่ายเอง อาจชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง เพราะแอบถ่ายเอา อาจมีการ Censor หน้าผู้ป่วยหรืออาจารย์บ้าง รวมทั้งถ้าคิดว่ารูปไหนไม่เหมาะสมลองกระซิบมาได้ครับ)
(อีกอย่าง การเรียนการสอนแต่ละสถาบัน/หลักสูตร-แต่ละหอผู้ป่วย-แต่ละกองมีความแตกต่างกัน อย่ายึดเอา blog นี้เป็นสรณะ แต่ถ้าน้องๆ สนใจลองอ่านดูก็ได้และปรึกษาได้ หรือถ้าพ่อแม่บังคับให้หนูเรียนหมอ ลองพาท่านมาเปิดอ่านดูนะ)
เมื่อนาฬิกาปลุกตอนเช้า
ทุกๆ เช้าเสียงนาฬกาปลุกจะดังขึ้น ไม่แน่ใจว่าเป็นของผมหรือรูมเมท
เหลือบดูนาฬิกา “หกโมงสี่สิบห้า สายแล้ว” ไม่ผิดครับ นี่สายแล้ว
จากนั้นผมใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีในการแปลงกายและไปแทรกตัวอยู่ที่หอผู้ป่วย
เจ็ดโมงเช้า… เวลาแห่งความหลากหลาย
หลายคนอาจกำลังซุกตัวในผ้าห่ม
หลายคนกำลังเรียกรถตู้โดยหวังว่าจะได้งีบเอาแรงอีกซักชั่วโมงระหว่างเดินทาง
หลายคนกำลังกินข้าวเช้ากับครอบครัวอย่างอบอุ่น
แต่ผมต้องพร้อมทำงานแล้ว
ข้าวเช้าจะกินหรือไม่ได้กินไม่รู้ น้ำอาบหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่เจ็ดโมงเราต้องพร้อมแล้ว
ยิ่งบางวอร์ดอาจต้องราวน์เช้ากว่านี้ เช่นศัลยกรรม เพราะว่าต้องมีทำแผลก่อนราวน์ด้วย
(เพื่อนผมคนนึงเคยต้องรีบปลุกไปตีห้า ไม่งั้นทำแผลไม่ทัน)
ใช่ครับ หลักการแรกในการมีชีวิตในชั้นคลินิกคือ “ราวน์ก่อนพี่”
พี่เนี่ยก็ต้องไล่เลยครับ ตั้งแต่ Extern(ปีหก) Resident 1-2-3 อาจลามไปถึงอาจารย์ด้วย
อย่างน้อยไม่รู้เรื่องวิชาการอะไร ก็ต้องรู้ว่าคนไข้มีกี่คน คนไหนของเราบ้าง ขี้เยี่ยวเป็นไง มีไข้หรือเปล่า
ถ้าเริดหน่อยก็พอรู้ว่าเป็นอะไรมาบ้าง ทำอะไรไปแล้ว และจะวางแผนทำอะไรต่อไปบ้าง
แต่หน้าที่ของน้องปี 4 หลักๆ คือเป็น”เบ๊วอร์ด”ครับ ทำทุกอย่างครับ
แย่งชาร์ทกับพยาบาล, เจาะเลือด, เช็ดตัว, รายงานผลแลป, ย้อม slide, หยิบ film, แบกชาร์ท ฯลฯ
แต่ที่สำคัญที่สุดคือเดินตามพี่ให้ทัน และจำงานที่เราต้องทำให้ได้
แต่จำไว้ว่าเราไม่ทำงานฟรีครับ ต้องไปแลกกับความรู้ที่พี่ๆ เค้าพ่นใส่กันในทุกที่ เก็บข้อมูลไว้
จำไว้ว่าความรู้มันมีทุกที่ และทุกเวลาเราสามารถเอาความรู้จากพี่ๆ ได้
ทั้งหลักวิชาการ, หลักการจำ, เทคนิค, หัตถการ, การพูดคุยกับญาติและวิชาชีพอื่นๆ
แต่ก็ต้องระวังความรู้ที่พี่พ่นๆ มา อาจมียาพิษปนมาบ้าง อันนี้ต้องเปิดหนังสือคอนเฟิร์ม
หลักการราวน์คือ เราเดินดู Progression ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาแต่ละวันครับ
ดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม มีอะไรดีขึ้นไหม มีไข้หรือเปล่า แลปที่ส่งเมื่อวานเป็นไงครับ แผลดีขึ้นไหม
การราวน์เนี่ยรอบแรกส่วนมากเราจะกระทำกับพี่ Extern ครับ
ส่วนรอบสองก็จะราวน์กับพี่ Resident 1 + พี่ปีอื่นๆ (อันนี้ระบุยากจริงๆ)
อาจมีรอบสาม รอบสี่ รอบห้าอีก อันนี้แล้วแต่บุญกรรมนำพาครับ
ที่เล่าไปส่วนมากมันจะเป็นแบบนั้นนะครับ
แต่บาง ward ก็จะมีกิจกรรมที่ต่างไปตามสิ่งที่เราควรจะต้องทำและต้องรู้
เช่นช่วงที่อยู่หอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด ทุกเช้าก็จะมีการตรวจเด็กแรกคลอด
คืนไหนที่คลอดกันเยอะ วันรุ่งขึ้นต้องตรวจเด็กทารกกันน้ำบานเลยทีเดียว
เหตุที่เราต้องตื่นเช้าเพราะว่าทุกอย่างต้องเร่งทำเวลาครับ
พอราวน์เช้าเสร็จ ส่วนมากก็จะกำหนดเวลาให้ถึงประมาณ 0800-0830 น.
เมื่อถึงเวลานี้ เราจะต้องไปทำ Activities อื่นๆ ที่กำหนดในตารางแล้ว
อันนี้แล้วแต่วอร์ดและอาจารย์ และงานที่จะต้องทำ ซึ่งก็จะต่างกันไปครับ
กิจกรรมยามเช้าของน้องหมอ
กิจกรรมมันเยอะมาก เล่าละเอียดคงไม่หมด แต่เล่าคร่าวๆ ก็มีทั้ง….
ไป conference กับพี่ๆ
ก็มีทั้งพี่ Extern, Resident, Fellow และอาจารย์
บ้างก็เข้าห้องประชุมใหญ่ บ้างก็เข้าห้องประชุมเล็ก มีข้าวเลี้ยงบ้างไม่มีบ้าง ตามบุญพาวาสนาส่ง
เนื้อหาก็แล้วแต่ แต่ส่วนมากจะครอบคลุมในทุกกลุ่มประชากรที่เข้าฟัง
บางครั้งค่อนข้างยากและเฉพาะทางเกินไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย
มีเหนื่อยๆ ง่วงๆ (โดยเฉพาะถ้าอยู่เวรคืนก่อนหน้า) ก็มีแอบหลับบ้าง ก็ว่ากันไปตามน้ำ ^^

Ward work
เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่น่าเบื่อแต่สำคัญมากๆ (สำหรับผมนะ)
คือที่ผมเบื่อคืองานมันออกแนว Routine ไปนิดนึงนะครับ
แต่สำคัญตรงที่เราได้ฝึกฝีมือ, ได้ผลเร็วซึ่งทำให้เรารักษาคนไข้ได้เร็วตามมาด้วย
ward work ก็มีตั้งแต่เจาะเลือด, เก็บฉี่, ABG, เก็บเสมหะ, ย้อม slide, ส่ง X-ray, ฯลฯ
สำคัญคือเราต้องจดและจำให้ได้ว่าเมื่อเช้าที่เราราวน์คนไหนจะทำอะไรบ้าง
ซึ่งพอทำเสร็จแล้วก็ต้องไปลงผลในฟอร์มปรอท รายงานพี่ๆ หรืออาจารย์ให้ทราบ

ห้ามจำหรือทำสลับกันเป็นอันขาด ต้องเช็คดีๆ
บางวันมันเยอะมากๆ ให้ตายสิ ทำตั้งแต่ 0900-1200 น ก็ยังไม่เสร็จ
ออกตรวจผู้ป่วยนอก (OPD)
เป็นกิจกรรมหลักจริงๆ ที่เป็นเหตุผลว่าทำไมหมอๆ ต้องรีบราวน์เช้าให้เสร็จ เพราะไม่ต้องการให้คนไข้คอยนาน
โดยการตรวจผู้ป่วยนอกจะเป็นหน้าที่หลักของพี่ Resident + มี Extern บ้าง
ส่วนปีสี่ปีห้าก็จะงงๆ เนียนๆ ไปนั่งกับพี่ๆ + อาจารย์ เพราะพวกนี้ต้องตรวจตรงจุดและเร็ว
จำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยประสบการณ์ น้องๆ ส่วนมากเก็บ level ไปก่อน
ถ้าเคสไหนน่าสนใจอาจารย์ก็จะให้ตรวจหรือเอามาคุยนอกรอบภายหลังอีกที
(กิจกรรมนี้จะมีอาจารย์ดูแลเป็นพิเศษ ไม่ให้เราตรวจเองลำพัง แต่จะอาศัยการ Discuss กันมากกว่า)
บางทีอาจารย์จะให้ช่วยตรวจในเคสที่ไม่ยากมาก ได้ประสบการณ์ดีครับ

บาง OPD อาจเป็น OPD พิเศษ เช่น OPD กุมารเวชจะมี clinic เด็กดี
คือจะตรวจเด็กน้อยที่นัดมาตามระยะว่ามีพัฒนาการปกติหรือไม่ มีปัญหาอะไรหรือเปล่า
และรวดให้ Vaccine ตามกำหนดอายุของเด็กไปเลย

เข้าห้องผ่าตัด
เป็นอีกกิจกรรมที่น้องๆ จะตื่นเต้นกันมากๆ
เพราะเราจะได้เปลี่ยนเสื้อ แต่งตัว เข้าห้องแอร์เย็นๆ ในห้องผ่าตัด วู้ๆๆๆ
แต่พออยู่นานๆ ชักรู้สึกว่าเยอะไป ยืนนาน เกะกะพี่ๆ แถมงานงอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพราะจากแค่ดูๆ เฉยๆ ต้องมาเริ่มเตรียมคนไข้, คุยกับคนไข้ก่อนผ่าตัด, ดูตารางผ่าตัด, Consult อาจารย์, จองห้อง, เขียน Op note (รายงานการผ่าตัด)… นี่ยังไม่เกี่ยวอะไรในห้องผ่าตัดเลยนะ

ส่วนในห้องผ่าตัดนั้น หน้าที่หลักของน้องๆ คือชะเง้อยืนดูนอก Field ผ่าตัดครับ
อาจมีผู้โชคดีบางท่านได้เข้า Field ผ่าตัดครับ น้องก็ต้องไปล้างมือ ใส่ชุดผ่าตัด ดูเท่มากมาย
แรกๆ ดูตื่นเต้นดี น่าสนใจมากๆ อยากเป็นหมอศัลย์
หน้าที่หลักปีสี่คงไม่เกินถือ Retractor หรือ Suction แค่นี้แหละ อาจมีเพิ่มเติมบ้างแต่ไม่มาก
แต่ข้อเสียของการเข้า Field คือ ถ้าน้องเข้าเคสโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ เช่น อาจารย์ดุ+ต้องทำนาน
ก็ยืนทนเข้ากันไปครับ เที่ยงครึ่งไม่เลิกก็อดกินข้าวไป (ขณะนั้นเพื่อนหนีไปหมดตั้งแต่เที่ยงแล้ว)
เรียนหนังสือ
เป็นหน้าที่หลักของน้องๆ ปี 4-5 ครับ
จากกิจกรรมที่น่าเบื่อตอนปี 1-2-3 จะเป็นกิจกรรมพักผ่อนและได้ความรู้เต็มๆ
ยิ่งถ้าเอามาผนวกกับความรู้ที่ได้จากหอผู้ป่วยจะเป็นอะไรที่ Work มากๆ
โดยการเรียนก็จะมีอาจารย์มาสอนตามตารางสอน
แต่อาจมีเลื่อนบ้างตามความรีบด่วน เช่น อาจารย์เข้าห้องผ่าตัดด่วน หรือเคสอาจารย์มีปัญหา
ก็จะได้รับการสอนซ่อมในภายหลังอีกทีหนึ่ง (โดยเฉพาะก่อนสอบ)
แกรนด์ราวน์
Grand Round คือการเอาเคสใหม่ๆ หรือเคสที่น่าสนใจเคสเดียวมาราวน์กันครับ
ก็จะมีพี่ๆ มาเกือบครบ ทั้ง Resident, Fellow และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละแผนกมากันเป็นหมู่

ก็เป็นการราวน์โดยการเจาะลึกรายละเอียดเพียงเคสเดียวครับ
ถ้าเป็นปี 4-5 ก็จะรับผิดชอบเรื่องอาการที่มา ซักประวัติตรวจร่างกายเบื้องต้น ผล lab ต่างๆ
พอปีสูงขึ้น หน้าที่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น

ซึ่งสรุปสุดท้ายจริงๆ อาจารย์ก็จะมาสอนแหละ และประโยชน์ก็ตกกับทุกฝ่าย
น้องๆ ได้ความรู้เบสิกเพิ่ม, พี่ๆ ได้ความรู้แอดวานส์เพิ่ม, อาจารย์ได้ข้อมูลจากหลายฝ่าย และรักษาได้ถูกต้อง
ส่วนคนไข้ก็ได้รับการรักษาหรือส่งต่อไปยังสถาบันที่เหมาะสม พร้อมที่จะรักษาโรคเฉพาะนั้นๆ
กิจกรรมพิเศษอื่นๆ
มีมากมายหลายแบบครับ แล้วแต่กองจะจัดกิจกรรมให้
เช่นตอนอยู่กองออโธปิดิกส์ ก็จะได้เรียนทำเฝือกด้วย

ส่วนอันนี้เป็นกิจกรรมพิเศษตอนอยู่จิตเวช ออกไปอบรม/ดูงานที่รพ.ศรีธัญญา
ซึ่งเป็นสถาบันที่เชียวชาญเฉพาะด้าน
กิจกรรมยามเช้าที่อัดแน่นมากๆ จนแทบไม่มีเวลาฉี่ก็จบลงเท่านี้
แม้กิจกรรมใดขาดหายไป พี่ๆ อาจารย์ก็จะเติมเต็มกิจกรรมให้อย่างดี ไม่มีช่วงว่างเด็ดขาด
อาจมีแว๊บหนีไปบ้างตามความเหน็ดเหนื่อย แต่น้องๆ ที่ดีไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ
เช้าเสร็จก็มาพักเที่ยงกันก่อน
พักเที่ยงส่วนมากเราก็ไปกินข้าวหรือพักผ่อนกันครับ
…ทำไมต้องส่วนมาก…
ใช่ครับ เรายังมีเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ในห้องผ่าตัดหรือทำ Ward work ไม่เสร็จครับ
รวมทั้งอาจมีนัดฉะกับอาจารย์, ถูกเรียกประชุม หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ของโรงพยาบาลครับ
พวกนี้ถ้าไม่มีอาหารเลี้ยง อย่างดีก็อาจได้ขนมปัง, นม, ข้าวกล่อง หรือน้ำลูบท้องไป
แต่ส่วนใหญ่ต้องอดไปตามระเบียบ


แต่บางเที่ยงเราอาจไม่ได้พักครับ เรามีกิจกรรมพร้อมอาหารเที่ยง(เลี้ยง)
ส่วนใหญ่จะเป็น Noon report, หรือ Conference พิเศษครับ
ต้องแอบแลกนิดนึงระหว่างกินฟรีพร้อมกับความรู้ กับการที่เราได้พักครับ

หมดเที่ยงก็ต่อบ่ายเลยครับ หลายๆ อย่างยังอัดแน่นมาก
บ่ายแล้ว ทำอะไรก่อนดี
ก่อนที่เราจะเริ่มกิจกรรมบ่าย ผมขอแนะนำน้องคนนึงครับ
เพราะถ้าเราขาดเค้าไป เราจะอยู่ในสภาพ comatose กันหมด
จากทั้งความเหนื่อย ความง่วง ความอิ่ม ความขี้เกียจ โอยยยยยย
น้องคนนี้เรียนรู้และอยู่ด้วยกันมานาน สนิทกันระดับนึง
เค้าจะทำให้เราสามารถต่อสู้กับความง่วงในช่วงบ่ายได้ เค้าคือ น้องกาแฟครับ
น้องกาแฟสามารถทำให้เราสู้ศึกยามบ่ายได้ครับ
น้องเค้าอาจมาในรูปของแก้วร้อนๆ,ใสน้ำแข็ง, ปั่น, หรืออาจอยู่ในกระป๋องก็ได้
แต่บางคนอาจต้องเพิ่มขนาดเป็นเครื่องดื่มชูกำลังได้ ,,หมอหรือคนขับสิบล้อวะ
เอาวะ สู้ๆๆๆ
กิจกรรมยามบ่าย น่าสนใจมากๆ
กิจกรรมยามบ่ายจริงๆ ก็คล้ายๆ กับช่วงเช้านะ
หลักๆ ก็มีเรียน, ทำ Ward work, เข้า conference สลับๆ กันไปบ้าง
แต่หนึ่งกิจกรรมที่เราไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง (เพราะอาจารย์เช็คชื่อ)
คือ Journal club ครับ ซึ่งเป็นการอ่านเอกสารทางวิชาการใหม่ๆ แบบเพิ่ง update ไรงี้
เออ ภาษาอังกฤษล้วนนะครับ

หรือบางทีอาจมีอาจารย์นัดสอนเป็นพิเศษ
อันนี้ก็สุดแล้วแต่ว่าแต่ละบ่ายของแต่ละภาคแต่ละกอง และตารางสอนแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร


หรืออาจออก OPD พิเศษ
ซึ่งมักจะเป็นการฝึกใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ หรือการสาธิตต่างๆ
ก็ถือว่าสนุก และได้เรียนรู้ไปอีกรูปแบบ

พอ Activity บ่ายหมด เราก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่า round เย็นครับ
ก็คือมาดูผู้ป่วยบนหอผู้ป่วยอีกครั้งช่วงบ่ายๆ ต่อเย็น ดูว่าที่สั่ง Lab หรือสั่งการรักษาตอนเช้าเป็นไงบ้าง
หรือผู้ป่วยที่ไปผ่าตัดตอนเช้าตอนเย็นเป็นไงบ้าง ดีขึ้นไหม และจะทำอะไรต่อ
รวมทั้งส่งต่อข้อมูลที่สำคัญแก่พี่/ เพื่อนๆ ที่อยู่เวรต่ออีก เพื่อให้การรักษามันต่อเนื่องครับ

เวร = เวร
พอราวน์เย็นเสร็จ หลายๆ คนก็คิดว่าชีวิตวันนี้จะจบแล้ว
ส่วนนึงก็ต้องตอบว่า เกือบใช่ อันนี้ก็ไปพักกันก่อนได้
แต่ยังมีคนอีกกลุ่มต้องอยู่เวร
ปี 4-5 ส่วนมากอยู่ถึงเที่ยงคืน ส่วนพี่ๆ กว่านี้ต้องอยู่เวรกันถึงเช้า แล้วทำงานต่ออีกวัน
ถ้าเทียบคือเข้าเวรเช้า-บ่าย-ดึก-เช้า-บ่ายครึ่งนึง หรือทำงาน 36+ ชั่วโมงต่อเนี่อง
เรียกง่ายๆ ถ้าดวงซวยๆ นี่ไม่ต้องนอนต่อเนื่อง ถึกยิ่งกว่าคูโบต้าซะอีก

นอกจากเวรตอนเย็นแล้ว ยังมีเวรวันหยุด เวรเสาร์/อาทิตย์อีก ซึ่งนี่ยิงยาวข้ามวันเลย
ทำให้ในวันหยุด บางคนเป็นวันพักผ่อนที่มีค่า แต่ว่าเรายังกลับทำงานไม่หยุด เฮืออออกกกกก!!!!
ส่วนมากหน้าที่หลักๆ คือช่วยพี่ๆ รับเคสใหม่ๆ ขึ้นมาบนวอร์ด ซักประวัติ ตรวจร่างกาย
ดูคนไข้บนวอร์ด ดูแลปและแก้ไข รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการกู้ชีพในกรณีฉุกเฉิน

แต่ถ้าอยู่ห้องฉุกเฉินก็จะได้ทำแผลด้วย

คือปกติอยู่เวรเค้าจะมีห้องพักแพทย์ให้ แล้วแต่ว่าเราจะได้ใช้หรือเปล่า เพื่อนๆ บางคนก็ถูกตามทั้งคืน
หมอเวรทุกคนล้วนหวังว่าคนไข้ในรับผิดชอบของตนจะต้องดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างน้อยก็ดีที่สุดเท่าที่ความรู้และความสามารถของเรา+พี่ๆ+อาจารย์จะทำได้
แล้วเพื่อนที่ไม่อยู่เวรล่ะ
หลังจากที่เลิกราวน์เย็นนั้น ก็ไม่ได้ว่าว่างชิลตลอดเวลานะครับ
เพื่อนๆ ที่ว่าง ไม่มีเวร เราก็มีรายงานให้ทำกันจนเบื่อไปเลยละครับ
แต่ก็ดีนะครับ มันก็เหมือนช่วยกระตุ้นให้อ่านหนังสือ รายงานเยอะก็ต้องปั่นกันต่อไป

หรือถ้าขยันๆ ก็จะมีหนังสืออ่านนอกเวลาให้จนลืมเบื่อเลยละครับ
ซึ่งกับผมที่นั่งเล่นเนต เขียน blog เล่น twitter เยอะๆ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ -_-a

กว่าจะได้นอนก็ส่วนมากก็ตี 1-2-3 เป็นต้นไป
พรุ่งนี้เช้าก็วัฎจักรเดิมๆ พร้อมราวน์เช้า 7 โมง
จากความเหน็ดเหนื่อยซ้ำๆๆๆ ทุกวัน จนถึงวันนึงที่กาแฟก็ช่วยไม่ได้แล้ว
มันก็เลยต้องมีแบบนี้บ้าง

นอกจากนั้น ชีวิตนักเรียนแพทย์เราไม่ได้หมดแค่นั้น
เพราะเรายังมีกิจกรรมทั้งนอกและในหลักสูตร
ทั้งบีบบังคับ และบังคับโดยละมุนละม่อมให้ทำมากมาย
เช่น ออกเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน


ประชุมวิชาการของโรงพยาบาล

นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ
ซึ่งผมได้มีโอกาสเป็นคนพูดเลย ดูเท่มากๆ วันนั้น ซึ่งขอบคุณงาน Ignite ที่ทำให้ผมตื่นเต้นลดลง

สำรวจชุมชน เพื่อค้นหาปัญหาและจัดกิจกรรมต่างๆ
เหมือนเป็นการฝึกการลงพื้นที่ครับ ลำบากเหมือนกัน แต่สนุกดี


เยี่ยมโรงเรียนและตรวจร่างกายเด็กน้อย

ดูมีสาระเนอะ
ยังครับ มันยังมีมากกว่านั้น
กิจกรรมแบบที่มีสาระน้อยๆ ก็มีนะครับ
เริ่มที่ เป็นช่างภาพมือสมัครเล่น รับงานนอกและใน
ส่วนมากเป็นเพื่อน คนรู้จัก ไปช่วยเค้าถ่าย ฟรีๆ สนุกๆ มีเอาไปลงหนังสือด้วย ทั้งแบบขอและไม่ขออนุญาติ

กิจกรรมออกบูธนอกสถานที่ของโรงพยาบาล เพื่อการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลครับ

งานบุญโรงพยาบาลก็ต้องไป เง้อ…

กิจกรรมดนตรีและงานสังสรรรื่นเริง ส่วนมากเล่นไปไม่ได้เงิน -_-a
แต่เพื่อความบันเทิงของทุกฝ่าย เรายอมครับ
ทั้งแบบ เชิญไปเล่นบนเวทีงานต่างๆ ของโรงพยาบาล

เก็บเลเวลข้างถนน ตั้งวงเล่นเองหน้าโรงพยาบาล ไม่สนใจคนไข้ใดๆ 555+
ซึ่งผลตอบรับในทางบวกกับอาจารย์ค่อนข้างดีมาก เพราะไม่มีปีไหนบ้าทำมาก่อน

จนไปถึงฟอร์มวงไปเล่นบนเวที วู้ๆๆๆๆ
แต่งานมันส์ๆ แบบนี้ปีนึงมี 1-2 ครั้งเท่านั้นเอง เสียดายจัง

ส่วนตัวผมร้องกับ iHear ด้วย
เป็นวงที่ผมรัก และประทับใจมากๆ ครับ ผมมีทุกวันนี้ได้เพราะพี่ๆ ทุกคนในวงจริงๆ

หรือกีฬากระชากสัมพันธ์เราก็ไปเล่นด้วยนะ
(ทีมเดียวกันเหรอเนี่ย สีเสื้อไม่เห็นเหมือนกันเลย)

ทั้งวิชาการ ทั้งบันเทิง สุดท้าย กว่าจะจบเป็นปี4-5 ได้หัวโตพอดี
นี่ยังไม่ได้เป็นหมอนะ 555+

ต้องลองมาเรียนเองครับ จึงจะรู้รสชาติ BitterSweet ที่แท้จริง
โตขึ้นอยากให้ลูกเป็นหมอ???
ใครรักลูกรักหลาน ถ้าน้องเค้าชอบหมอและอยากเรียนหมอ ผมก็ยินดีด้วยครับ
แต่ถ้าเค้าไม่ชอบ อย่าไปบังคับเค้ามาเรียนเลยครับ มันเหนื่อยมากๆ ครับ
เพราะกว่าที่จะรู้ว่าเราชอบหมอรึเปล่า อย่างที่บอกมันต้องปี 4 แล้ว ที่เราเริ่มดูคนไข้แล้ว
ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ความรับผิดชอบเราไม่ได้มีแค่ตำรานะ แต่มีชีวิตคนด้วย
ซึ่งเพื่อนปี 4 ที่คณะอื่น เค้าก็จะจบกันแล้ว แต่ปี 4 แพทย์คือการเริ่มต้นเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น เค้าไม่ได้แค่ต้องทรมานกับความไม่ชอบแค่ 6 ปีตอนเรียนนะ
แต่เค้าต้องทนและทำงานกับมันไปเกือบทั้งชีวิต ฝืนความสุขตัวเองเพื่อหน้าตาพ่อแม่

แต่ก็อย่างที่เล่ามาแหละครับ การเรียนหมอมันก็มีแง่ดีมากๆ พร้อมโปรโมชันความเหนื่อยมา
เพราะโดยส่วนตัว ผมว่าการเรียนหมอในความเหนื่อยมันก็มีความสุขและสนุกมากๆ
ทุกครั้งที่คนไข้หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลด้วยรอยยิ้ม… แค่เค้าหันมาขอบคุณ…
มันรู้สึกดีมากๆ มันสุดยอดจริงๆ แม้เราเป็นเพียงแค่ปี 4-5 ที่ช่วยดูเฉยๆ
พอเดินสวนข้างนอก ลุงคนไข้เดินมาทักผม แต่ผมงงๆ เพราะจำไม่ได้ว่าใคร แต่ก็ดีใจมากๆ เลย มีคนจำเราได้
ความรู้สึกมันเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ จริงๆ
รู้สึกโชคดีที่ได้เรียนหมอครับ
โอยยยย พี่ตง เม้นแปะไว้ก่อน
คืนนี้เผางานก่อน เด๋วมาอ่านอีกรอบ 🙂
ชอบมากๆเลยครับ หมอตง >____<
อยากให้พ่อแม่ได้อ่านมั่ง แต่ถึงยังไงเค้าก็ไม่เข้าใจอยู่ดีอะแหละ
ชีวิตนี้ ใครเลือก?
เหนื่อย
ตามอ่านบล็อกพี่มาสักพักแล้วค่ะ
เขียนได้สนุกดี
ps.เป็นรุ่นน้องพี่ตั้งสอง รร. แหน่ะ (เด็กเก่าปรินส์ กะ วารี)
ผมว่านี่เป็นบล็อกแห่งปีเลยครับ รอเวลาคนเข้ามาถล่มดูได้ 🙂 ชื่นชมมากๆ
น้องสาวผมก็เป็นหมอ พออ่านแล้วรู้สึกรักน้องขึ้นมาอีกถนัดใจ
อยากให้เขียนเชิงให้กำลังใจอาชีพหมอด้วยนะครับ อาชีพนี้นับวันยิ่งขาดแคลน
และมีคุณค่าต่อสังคมอย่างมาก บางครั้งเขียนบรรยายความลำบากทำให้
เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยลำบากมาแขยง เดียวจะพาลไม่มีคนเรียนหมอกันเข้าไปใหญ่ 😛
ส่วนเรื่องดนตรี พี่ต้องขอบคุณ ตงต่างหากที่ให้เวลามาเล่นกับวง iHear ทั้งที่งานยุ่งมากครับ 🙂
ตงเป็นสีสันแก่ Social media ได้มากมายนัก
ชอบๆๆๆ อยากเป็น extern แล้ววุ้ย
ทุกวันนี้ comatose ตอนบ่ายตลอด แม้มีน้องกาแฟ หึๆ
ตามมาอ่านล่ะพี่ !
ได้เห็นอะไรๆ อีกเยอะเลย
ถ้าต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับนศ.แพทย์ จะขออ้างอิง
และขออนุญาตเรียนถามเพิ่มนะคะ !!
เขียนสนุกมากครับ นึกถึงวันเวลาเก่าๆเลย
ไว้มารออ่านชีวิต extern ต่อนะคะ
เหนื่อยตอนง่วงนอนเท่านั้นแหละ ได้นอนก็หายเหนื่อย
เขียนได้น่าอ่านมากเลยค่ะ แถมมีภาพประกอบดีด้วย…
ตอนนี้ก็ขึ้น Extern แล้วสิคะ เหลืออีกปีเดียว…
วางแผนไปใช้ทุนแถวไหนล่ะคะ…
(น้องพี่ ipattt)
เป็นหมอเหนื่อยกว่าวิศวกรอยู่แล้ว ไปหาอะไรกินดีกว่า 5555
คิดถึงอะพี่ (คิดถึงพี่แอน)
ไอ้ฮอกมาอ่าน blog กรูด้วยเหรอเนี่ยยยยยย -_-a OMG!!!
ตามมาอ่านเรื่องของกินอะพี่ ตอนนี้ผมแม่งอ้วนบ้ากินอย่างแรง
วันไหนเข้ากินพวกเนื้อย่าง ก๋วยเตี๋ยวเนือ้ buffet พวกเนี่ยชวนด้วยดิ
เพราะร่างกายต้องการเนื้อ!!
ประทับใจจัง ชอบ
อ่านลื่นดี มีสาระ แต่อ่านสนุก
Grazie for the ideas, most informative.
เขียนดีจังเลย 😉
พี่หมอตง สุดยอดไปเลย
ตามเข้ามาจาก page แมวชิลล์ ๅที่เอา review พี่ตงมาแปะ ก้อตามเข้ามาอ่าน เอ๊ะ หน้าคุ้นๆ อ๋อเป็นรุ่นน้องเภสัชที่ มช คะ รหัส 45 เพิ่งรู้ว่าพี่ตงเรียนต่อหมอนะคะ ยินดีด้วยจาจบแล้ว
ยินดีฮะ
ลองอ่านดูแล้วมีกำลังใจที่อยากจะเป็นเยอะเลยค่ะ^_^
ขอให้สมปรารถนาตามที่หวังนะครับ
พอดี กำลังจะจบตรี คิดว่าอยากเรียนต่อหมอเหมือนกันค่ะ
แต่ก็มีึึคนขู่ไว้ว่ามันหนัก เหนื่อย ไม่มีเวลา
จนตอนนี้ชักใจฝ่อแล้วค่ะ อยากให้พี่อัพอีก
จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ หุหุ
บังเอิญจริง ๆ ที่เข้ามาพบ และได้ความรู้อะไรมากมาย ดีใจกับว่าที่ คุณหมอด้วย คุณตงเก่งมากจริง ๆ ขอให้โชคดีในวงการแพทย์นะคะ
ยินดีครับ แล้วยังไงรอติดตามตอนต่อนะครับ
อ่านเเล้วเพลินไปเลยคะ
^^
รู้สึกดีค่ะ ที่อ่านบล็อคนี้ ขอให้คุณตง และเพื่อนๆ ประสบความสำเร็จในอาชีพ มีคนนับหน้า ถือตา เป็นที่ภูมิใจ ขวัญใจของผู้ป่วยนะค่ะ สู้ๆค่ะ
จะติดตามเรื่องเล่าของคุณหมอต่อไปค่ะ
ขอบคุณครับ ^^
แอบมาอ่าน เรื่อง Grand Round
แต่ก็ยัง งง
แล้ว เขามีวิธีการทำ Grand Round
อย่างไรบ้างค่ะ
แล้ว Grand Round มีการสรุปผล ?
ขอบคุณ นะคะ
อ่านเพลินดีครับ
ถ่ายรูปได้สวยนะเนี่ย