หลังจากที่เราเคร่งเครียดและอินประวัติศาสตร์มาจากทั้งเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวง และพุกามที่เป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศพม่าแล้วนั้น วันนี้เราก็จะมาพักผ่อนชิลๆ ไม่เครียดมาก มีประวัติศาสตร์นิดหน่อย ที่ทะเลสาบอินเลครับ

ย้ำอีกที ไม่เครียดครับ ตอนนี้ชิลๆๆ
จากเฮโฮ สู่อินเล
หลังจากนั่งเครื่องบินจากพุกามมาครึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงสนามบินเฮโฮแล้วครับ
สนามบินเฮโฮเนี่ยเป็นสนามบินที่เล็กเว่อ เล็กกว่าสนามบินของพุกามเกือบสามเท่า แต่คนที่มาใช้บริการก็น้อยกว่าสิบเท่า เห็นเค้าเปรียบๆ แล้วประมาณสนามบินเมืองปายอะ (แต่ผมก็ไม่เคยไปสนามบินปายนะ) เครื่องบินมาลงไม่ได้เยอะมากเหมือนเมืองท่องเที่ยวอย่างพุกามหรือมัณฑะเลย์หรอก ใครจะมาเฮโฮนี่ต้องตั้งใจมาจริงๆ เพราะไม่ได้เป็นเมืองระหว่างทางเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ


คำถามต่อมาคือ เฮโฮกับอินเลคืออะไร
คำตอบคือ เฮโฮเป็นเมืองเมืองนึงในรัฐฉานหรือรัฐไทยใหญ่ครับ โดยเมืองหลวงของรัฐนี้คือเมืองตองยี (TaungGyi) (ส่วนตองอูที่คนไทยรู้จักนั่นเป็นอาณาจักรที่สองของพม่าต่อจากพุกามนั่นเอง เดี๋ยวจะเล่าต่อด้านล่างละกัน) เมืองเฮโฮนี้เท่าที่ผมรู้คือเป็นเมืองที่มีสนามบินแค่นั้นครับ ,, ส่วนอินเลเป็นทะเลสาบที่อยู่ในเมืองชเวยอง (ShweYaung) ซึ่งอยู่ในเขตของตองยีเหมือนกัน
อธิบายนิดนึง คือพม่าเค้าปกครองเป็นรัฐผสมกับเขตการปกครอง มีทั้งสิ้น 7 รัฐ และ 7 เขตการปกครอง (จินตนาการโดยเทียบกับบ้านเราว่าพม่ามี 14 จังหวัด) โดยแต่ละรัฐหรือเขตการปกครองก็จะมีเมืองเอกของตัวเอง อย่างเช่นรัฐฉานก็จะมีเมืองเอกเป็นตองยี, รัฐยะไข่ (Rakhine) ก็จะมีเมืองเอกเป็นชิตตเว, เขตย่างกุ้งก็มีเมืองเอกเป็นย่างกุ้ง ประมาณนี้ แถมแต่ละเขตแต่ละรัฐก็อาจมีวัฒนธรรมและภาษาและแตกต่างกันไป
จริงๆ ให้ถูก เราต้องเรียกว่า “สหภาพพม่า” ครับ
View ส่งท้ายปี กับพม่าสี่เมือง :: ตอนที่ 3 ที่ทะเลสาบอินเล in a larger map
กว่าจะต่อรองค่ารถไปอินเลได้ก็นานมาก เพราะแต่ละคันเรียกราคากันราวๆ 30,000 จ้าดต่อคัน จนกระทั่งต่อไปต่อมา ได้รถมาสองคัน 50,000 จ้าด (ประมาณคันละ 900 บาท) ก็เลยตกลงไปก็ได้วะ ทีแรกก็บ่นในใจว่าทำไมแม่งแพงชิบเลยวะ แต่พอเปิดแผนที่ดู… อ่อไกลแสรดดดดด ระยะทางเกือบ 50 กิโล เค้าบอกว่าขับประมาณชั่วโมงครึ่ง แถมทางก็แคบ ขึ้นดอยซะก็เยอะ เฮ้อ… สมควรละที่เค้าเรียกราคานั้น (แต่ผมก็ว่าแพงไปอะ)
เป็นการนั่งรถโตโยต้าโคโรล่ารุ่นพ่อที่ราคาแพงที่สุดในชีวิต



ระหว่างนั่งรถก็ขอเล่าเรื่องของเมืองตองยีหน่อยละกันน่อ (เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นแนะนำให้ไปอ่านภาคพุกามก่อนนะ)
หลังจากที่พุกามโดนกองทัพของเจงกิสข่านของมองโกลตีแตกสิ้นแล้ว แทนที่ทางมองโกลจะยึดครองเมืองพุกามไว้กลับต้องถอยทัพกลับไป เหตุเพราะอากาศในแถบนี้ค่อนข้างร้อนมากสำหรับคนที่อยู่เมืองหนาวมาก่อน (ขนาดคนอยู่แถวนี้ยังร้อนเลย จะประสาอะไรกับพวกนั้น) ซึ่งหลังจากทางมองโกลถอยทัพกลับไปทำให้เกิดภาวะสูญญากาศ พม่าเดิมที่มีพุกามศูนย์กลางต้องแตกเป็นสองส่วนหลักๆ คือพม่าตอนเหนือ ที่ประชากรกลุ่มหลักเป็นชาวไทยใหญ่ เมืองหลวงเป็นอังวะ, และพม่าตอนใต้ ที่ประชากรกลุ่มหลักเป็นชาวมอญ เมืองหลวงเป็นหงสาวดี ทีนี้ระหว่างหงสาวดีและอังวะก็รบกันมาตลอด ฝั่งนู้นชนะบ้าง ฝั่งนี้ชนะบ้างผลัดๆ กันไป
แต่ทีนี้ก็มีตาอยู่อย่างอาณาจักรตองอูแห่งเมืองตองยีที่ซุ่มเงียบอยู่ สะสมทั้งไพร่พลและเสบียงไว้จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าเมงจีโย แกก็ไล่ตีเมืองต่างๆ จนสิ้น ยึดเอาทั้งอังวะและหงสามาไว้ในการครอบครอง จากนั้นก็ได้ขยายอาณาเขตของพม่าออกไปอย่างมาก และพระองค์ก็ได้ย้ายเมืองหลวงจากตองยีไปอยู่หงสาวดีในเวลาต่อมาด้วย
จริงๆ ตองอูเป็นชื่อเมืองเมืองนึงในเขตพะโค (หงสา) นะครับ ไม่ได้เกี่ยวกับเมืองตองยีซื่งเป็นเมืองในเขตรัฐฉานโดยตรง ,, แม้ว่าอาณาจักรตองอูมีกำเนิดมาจากเมืองตองยีก็ตาม อิอิ (งงป่าวเนี่ย)
ยิ่งช่วงถัดมาเป็นรัชสมัยของพระเจ้าตะเบงชเวตี้ซึ่งเป็นบุตรของพระเจ้าเมงจีโย ยุคนี้พม่าได้ทำสงครามและขยายอาณาเขตไปกว้างขวางมากๆ และถือเป็นอีกช่วงที่พม่าเกรียงไกรมากๆ ,, นอกจากพระเจ้าตะเบงชเวตี้แล้ว ช่วงนั้นยังมีบุเรงนองด้วย เพราะว่าบุเรงนองเป็นลูกของแม่นมที่เลี้ยงพระเจ้าตะเบงชเวตี้มา เนื่องด้วยอายุทั้งคู่ไล่เลี่ยกัน สองท่านนี้ก็เติบโตมาด้วยกันตลอดคล้ายกับเป็นพี่น้องกัน จนกระทั่งยามศึกสงคราม บุเรงนองนี่ก็รับหน้าที่ประมาณมือขวาของพระเจ้าตะเบงชเวตี้เลย ทั้งคู่ช่วยกันรบจนกระทั่งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้สิ้นพระชนม์จากการถูกลอบปลงพระชนม์ บุเรงนองก็ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ต่อ ช่วงนั้นพม่าแข็งแกร่งและขยายอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งแต่ที่ดินตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำอิระวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขงเป็นของพม่าหมด ,, ไม่ต้องถามนะครับว่าพี่ไทยไปไหน สมัยนั้นอยุธยาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าด้วย
ถ้าใครจำได้ ช่วงที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ครองราชย์นี่จะมีเอี่ยวกับไทยด้วยเหมือนกันเพราะมีศึกระหว่างเมืองตองยีและกรุงศรีอยุธยา ที่สำคัญก็จะมีเรื่องพระศรีสุริโยทัยและกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งแรก และช่วงนี้จะเป็นช่วงพระนเรศวรตอนเด็กถูกลากไปเป็นตัวประกันที่พม่าด้วย กว่าที่พระนเรศวรจะกู้ไทยกลับมาได้ก็คือสมัยพระเจ้านันทบุเรงที่เป็นลูกของบุเรงนองอีกที

บ่นไปเรื่อยๆ ก็ถึงปากทางเข้าอินเลแล้วครับ ไม่ต้องตื่นเต้นมาก เพราะต้องควักเงินอีกคนละ 5 ดอลล่ามาจ่ายเป็นค่าเข้าเยี่ยมชมอินเล โฮๆๆ ไปไหนบ้านเค้าก็เสียเงินหมด ทีบ้านเราไปที่ไหนก็ไม่เสียซักบาท ช่วยเที่ยวเมืองไทยกันเยอะๆ นะครับ


เข้าสู่ทะเลสาบอินเล
เนื่องจากเราไม่รู้อะไรเลย เราก็เลยให้แท๊กซี่มาส่งที่เรือรับจ้างเข้าทะเลสาบอินเลด้วย (หรือเพราะเหตุนี้วะ เค้าเลยลดค่ารถให้เราตั้งหมื่นจ้าด คงได้ค่าต๋งจากร้านทัวร์แน่ๆ) จากนั้นก็คุยๆ เรื่องเรือที่จะเข้าไปที่ทะเลสาบครับ ,, สรุปสุดท้ายได้ราคา 35,000 จ้าด ให้เวลาเราหกชั่วโมง (เราไปถึงก็ 11.00 น. แล้ว กะว่าจะเที่ยวหลั่นล้าและกลับฝั่งราวๆ 17.00 น.) โดยเค้าจะมีไกด์ให้คนนึงและก็คนขับเรืออีกคนนึง ,, ส่วนสัมภาระของเราก็ขอฝากไว้ที่ร้านก่อน
ว่าไปนั่น ค่าเรือเที่ยวครึ่งวันถูกกว่าค่ารถจากสนามบินมาอีก!!!



ประมาณ 11.15 น. เรือของเราก็เริ่มออกเดินทางละครับ ตื่นเต้นจัง
ทีแรกเรือก็ค่อยๆ แล่นช้าๆ ออกจากท่าเรือเข้าสู่ส่วนที่คล้ายๆ คลอง จากบ้านเรือนและแหล่งชุมชนเริ่มกลายเป็นรั้วไม้และทุ่งหญ้าลอยน้ำ ดอกหญ้าสีขาวพัดปลิวไสว นกนางนวลบินมาทักทายเป็นระยะๆ เรือที่สวนผ่านและแซงเราไปมีทั้งเรือของนักท่องเที่ยวและเรือของชาวบ้านที่ขนพืชผลทางการเกษตรมาขาย อ่า….
ในหัวผมตอนนั้นมีแต่ความคิดที่ว่า ถ้าเรือล่มและเราตกน้ำไปจะทำไงดีวะ กล้องเกลิ้งมือถงมือถือก็คงจะเจ๊งไปหมด แต่ก็ช่างเหอะ เพราะอยู่ที่นี่นะ ไอโฟนก็มีประโยชน์แค่เอามาถ่ายรูปและจดรายละเอียดการมาเที่ยวเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง กล้องเจ๊งก็ไม่ต้องรีวิวอะไรลงบล๊อกละ เก็บไว้เป็นความทรงจำพอ ขอเราว่ายน้ำไปที่ขอบคลองแล้วเอาตัวรอดก่อนละกัน กว้างไม่กี่เมตรเอง สบายๆ
แต่พอพ้นส่วนที่เป็นคลองออกมาเท่านั้นแหละครับ ทะเลสาบอินเลแม่งสุดลูกหูลูกตาลูกยายมากๆ



ออกมาเรื่อยก็เจอชาวบ้านที่ดำรงชีพทะเลสาบอินเลหรือเรียกว่าชาวอินทาพายเรือออกหาปลาด้วยท่าอันเป็นเอกลักษณ์ คือ ยืนเอาขาเกี่ยวไม้พายแล้วก็พายเรือไปแบบนั้น (เห็นไกด์บอกว่าทำแบบนี้แล้วแรงมันจะดี) จากนั้นก็จะโยนสุ่มทรงสูงลงไปจับปลา แล้วก็เอาฉมวกแทงๆๆๆ แล้วเอาปลาขึ้นมากิน เอิ้กๆๆๆ
จริงเค้าเล่ากันว่าชาวอินทาเมื่อก่อนก็เป็นชาวบ้านธรรมดานี่แหละ ดำรงชีวิตอยู่บนดิน ทำการเกษตรแบบปกติๆ นี่แหละ แต่พอช่วงที่ไทยรบกับพม่าชาวบ้านพวกนี้ก็หนีตายมาอยู่ที่ทะเลสาบอินเล และปรับวิถีชีวิตตัวเองให้อยู่เหนือน้ำแทน ,, และนอกจากกระประมงแล้ว ความเจ๋งโคตรๆ ของที่นี่คือการเกษตรบนแปลงเกษตรลอยน้ำ โดยชาวบ้านจะเอาวัชพืชผูกๆๆ กันให้เป็นราง เอาไม้ไผ่ยึดกับก้นทะเลสาบจากนั้นก็ปลูกทั้งมะเขือเทศ, ถั่ว, แตงกวา, พริก ฯลฯ
แต่ที่เด็ดคือ เอาพืชผักที่ตัวเองปลูกมาขายที่ฝั่งด้วย ,, เมพอะ…


นั่งไปเรื่อยๆ ก็เจอเสาหงษ์ครับ ,, ขอดองเรื่องนี้ไปเล่ารวมกันที่วัดผ่องด่ออูด้านล่างละกัน


สบายใจจัง
กินลมชมวิวที่อินเล
หลังจากเที่ยวมาเหนื่อยๆ แถมมีประวัติศาสตร์หนักๆ ทั้งย่างกุ้งและพุกาม การมาที่ทะเลสาบอินเลนี่ผมชอบมากเลยนะ รู้สึกเลยว่านี่แหละคือการพักผ่อนที่แท้จริงที่เราต้องการ ,, อากาศบริสุทธื์, ละอองน้ำบางๆ, ลมพัดมาประทะหน้าเราเบาๆ โอยยยยยย ฟินเว่อ~~~
ล่องเรือมาอีกซักช่วงใหญ่ๆ ก็เริ่มเจอบ้านเหนือทะเลสาบแล้วครับ 🙂



สังเกตว่าไอ้แปลงผักลอยน้ำที่ว่าเนี่ยมันมีกันแทบทุกบ้านเลยนะ บางบ้านอาจเล็กๆ, บ้างอาจใหญ่หน่อย แต่ไอ้พวกที่ปลูกขายจริงจังเนี่ยใหญ่เป็นระดับฟาร์มลอยน้ำเลยนะเนี่ย อารมณ์แบบทุ่งหญ้าสีเขียวลอยเต็มผืนน้ำอะ อลังๆๆๆๆ…
นั่งเรือไปผมก็แอบถามไกด์ว่าแถวนี้เค้าไม่มีรีสอร์ทเหรอ เค้าบอกว่าก็มีนะ รีสอร์ทที่มีนายทุนจากชาติอื่นๆ มาลงทุนปลูกไว้อย่างสวยเลย แต่ราคาแพงมากๆ คืนนึงสองร้อยเหรียญขึ้นไป เหอๆๆๆ



นั่งเรือไป ดูวิถีชิวิตชาวบ้านที่กลมกลืนกับทะเลสาบไปอย่างไม่น่าเชื่อ สถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งวัดและโรงเรียน ถ้าไม่ลอยอยู่บนน้ำก็อยู่บนดินติดๆ กับทะเลสาบทั้งนั้น


ผมหลงรักที่นี่แล้วแฮะ
แวะกินข้าวเที่ยงกันเหอะ
สิ่งที่แปลกอย่างนึงคือ แม้เราจะนั่งเรือผ่านบ้านเรือนมาก็เยอะ เราไม่ค่อยเห็นร้านอาหารเลยแฮะ
แต่ไม่ต้องกังวลครับ ในที่สุดไกด์ก็พาเรามาที่ร้านอาหารชื่อ Shwe Yamin ครับ ณ จุดนั้นก็บ่ายโมงกว่าแล้ว ทั้งหิวและจะเลือกอะไรมากก็ไม่ได้ ร้านก็ไม่รู้จัก อินเตอร์เนตมือถือก็ไม่มี เอาเหอะๆๆ กินๆ ไป ไกด์พามาก็น่าจะโออยู่น่า
พอเทียบเรือเสร็จเราก็กระโดดขึ้นร้านเลย มองดูร้านจากข้างนอกนี่ผมว่าก็โอนะ สะอาดใช้ได้ แต่พอเข้ามาข้างในที่ผมว่าเจ๋งดีนะ ดูเรียบง่ายแต่บรรยากาศดี โดยเฉพาะวิวที่มองทะลุหน้าต่างออกไปแล้วก็เห็นทะเลสาบ โอยยยย ฟินสุด ,, ว่าแล้วก็สั่งอาหารไปอย่างเพียบเลย



จากนั้นอาหารไม่นานก็เริ่มทยอยมาครับ เท่าที่ลองชิมมาผมว่าอร่อยทุกอย่างเลย (อาจด้วยความหิวด้วยแหละ) แต่ที่ผมประทับใจคือยากิโซบะสไตล์อินเล, กะหรี่หมู/ปลา และเมนูจานปลาครับ ,, พวกปลาที่นี่สดมาก เนื้อหวานเว่อยังจับเพิ่งจับมาจากใต้ถุนร้านเมื่อสิบนาทีก่อนแล้วทำให้เรากินตอนนั้นเลย โฮๆๆๆ
เราสั่งไปเยอะมากๆๆๆ สรุปราคา 60,000 จ้าด เฉลี่ยๆ ตกคนละสองร่อยกว่าบาท โออยู่ๆๆๆ







เติมพลังเรียบร้อยแล้ว
ลุยกันต่อเลย!!!
จากนั้นเราก็ล่องเรือเข้าเขตชุมชน ไกด์จะพาเราไปดูวิถีชีวิตและพวกร้านค้าต่างๆ
อย่าคิดว่าชาวอินทาจะเป็นแค่จับปลาปลูกผักนะครับ แหม่~~ แต่ละหมู่บ้านของนี่เค้าก็มีความสามารถแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องงานช่าง งานไม้แกะสลัก งานเหล็ก งานเครื่องเงิน งานทอผ้า ,, และจะเชื่อมั้ย ว่าบนทะเลสาบเนี่ย จะมีตั้ง 32 หมู่บ้าน เอิ้กๆๆๆ
แต่เราคงไม่ได้แวะทั้งหมดทุกหมู่บ้านหรอกนะ


เริ่มที่ร้านเครื่องเงิน
เดินเข้าร้านเค้าปุ้บ เจ้าของร้านก็วิ่งมาหาเราปั้บ และก็ลากพวกเราไปดูขั้นตอนการทำเครื่องเงินที่นี่ ตั้งแต่ไปเอาก้อนหินมาแล้วสกัดออกมาเป็นแร่เงิน จากนั้นก็เอาเงินมาดัดเป็นรูปทรงต่างๆ ด้วยความร้อนและกลายเป็นข้าวของเครื่องใช้และสินค้าที่ระลึก ทีแรกผมกะจะสอยปลาน้อยจากอินเลมาละ แต่ผมว่ามันแพงไปหน่อย ขนาดต่อราคาแล้วก็ยังคิดว่าแพงอยู่ดี (จำไม่ผิดเค้าตั้งไว้จะประมาณ 50 ดอลนี่แหละ ผมต่อได้เหลือประมาณ 30 ดอล แต่ก็ไม่เอาอยู่ดี)



แวะร้านกะเหรี่ยงทอผ้าและร้านขายสะโหร่ง
ร้านนี้ดูทีแรกก็ไม่มีอะไร ไกด์คงอยากพาเราไปดูกะเหรี่ยงคอยาว คงกะว่าเราจะตื่นเต้น แต่คงไม่ใช่กับผมหรอกนะ เพราะแถวๆ ที่ทำงานผมก็มีกะเหรี่ยงคอยาวมาให้ตรวจไม่น้อยเหมือนกัน
ทีนี้ผมก็มาหยุดอยู่ที่ซุ้มขายโสร่ง เพราะอยากแต่งแบบพม่าๆ บ้างเหมือนกัน ดูเท่ดี พวกนี้เก่งมากเลย ใส่โสร่งกระโดดไปมาคล่องยิ่งกว่าใส่กางเกงอีก สุดท้ายผมกับไอ้เสือเลยตัดสินใจจะถอยโสร่งคนละตัว ต่อราคากะแม่ค้าจนสุดท้ายเค้าให้ตัวละ 8000 จ้าด แต่มันมีประเด็นก็คือเราใส่โสร่งไม่เป็นครับ…
แต่ประเด็นยิ่งกว่านั้นคือช่วงที่ผมใส่ไม่เป็นนั้นก็ไม่มีใครมาสอนผมเลย เรียกแม่ค้ามาช่วยใส่ให้ก็ใส่ให้แบบยี้ๆๆ จะโอบใส่ให้ก็ไม่มีใครสนใจ แต่พอทีไอ้เสือใส่ไม่เป็น แหม่~~ เข้ามาช่วยกันรุมใส่สองสามคน คนนั้นโอบทีคนนี้โอที สอนกันตั้งสามสี่รอบแหนะ โธ่ว์~
สองมาตรฐานแบบพม่าชัดๆ



แวะร้านทอไหมและใยบัว
จากนั้นก็ล่องเรือมาอีกร้านครับ เป็นร้านขายผ้าที่ทำมาจากใยบัวและไหมครับ ,, ร้านค่อนข้างใหญ่มาก ทำกันเกือบครบวงจรเลย เดินวนไปมาก็ดูสนุกดี อารมณ์คล้ายๆ ชมรมผู้สูงอายุมาช่วยกันผลิตและถักทอผ้าแล้วเอามาขาย ดูแล้วน่าอุดหนุนจัง
ทีแรกก็กะจะซื้อไปฝากแม่ฝากเพื่อนซักผืนสองผืน แต่พอเห็นราคาละก็ตกใจสลับกับช๊อคเลยครับ ผ้าพันคอใยบัวราคาเริ่มต้นที่ 25 เหรียญ (ตั้ง 750 บาทแหนะ) ถ้าผสมบัว+ไหมราคาประมาณ 60-90 เหรียญ และถ้าเป็นไหมล้วนนี่ 100+ เหรียญ (ตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป)






คุณแม่ก็อดของฝากไปก่อนเนาะ
แวะร้านช่างตีเหล็ก
สุดท้ายก่อนวนออกไป เราก็ไปแวะร้านเหล็ก+แกะสลัก ที่ตื่นเต้นหน่อยก็มีตีดาบให้เราดู จากนั้นก็มีขายของที่ระลึกนิดหน่อย (เป็นพวกดาบที่เค้าตีมา, เครื่องทองเหลืองเล็กๆ และไม้แกะสลักเล็กๆ) ไม่ค่อยน่าสนใจมากเท่าไหร่


ถึงแล้วครับ วัดผ่องด่ออู
เรียกว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของชาวอินเลเลย
เพราะที่สำคัญคือ วัดนี้มีพระบัวเข็มครับ ลักษณะเป็นพระ 5 องค์ แกะสลักจากไม้จากต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระทั้งห้าองค์เป็นพระที่ไม่มีหน้า ไม่มีตา ไม่มีจมูก อายุอนามกว่า 500 ปี ,, ซึ่งหลังแกะสลักเสร็จก็ได้เอามาประดิษฐานไว้ที่วัดผ่องด่ออู ซึ่งศรัทธาทั้งจากผู้คนในทะเลสาบเอง รวมไปถึงศรัทธาจากทุกสารทิศก็มากราบไหว้และปิดทองจนตอนนี้องค์พระกลมดิ้กและผิวเป็นตะปุ่มตะป่ำไปหมดแล้ว ฮาๆๆๆ
ออๆ ลืมบอกว่า บริเวณแท่นที่วางพระบัวเข็มไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไปกราบไหว้และปิดทองใกล้ๆ ผู้หญิงมีสิทธิ์สักการะพระได้แค่จากพื้นด้านล่างเท่านั้น (จริงๆ ก็แทบทุกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพม่าเลยนะที่จะไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปยังแท่นวางเนี่ย)
จริงๆ วัดนี้เข้าฟรีนะครับ แต่ถ้าจะถ่ายรูปต้องเสียเพิ่มอีก 500 จ้าด, ถ้าจะถ่ายวิดีโอต้องจ่ายอีก 500 จ้าด (คือเค้าดูว่าเราถือกล้องอะไรเข้าไป ถ้าถือทั้งกล้องถ่ายรูปและกล้องวิดีโอก็ 1,000 จ้าดครับ) แต่ถ้าใช้แค่กล้องโทรศัพท์ไม่เป็นไร ,, หลักๆ เที่ยววัดนี้ผมก็เสียค่าดอกไม้พันจ้าด, ทองคำเปลวพันจ้าด และค่าถ่ายรูป 500 จ้าด




นอกจากนั้น ในทุกๆ ปีช่วงหลังออกพรรษา ชาวอินทาเค้าจะมีประเพณีแห่พระบัวเข็มด้วยเรือนกการะเวกสีทองอร่ามไปรอบๆ ตัวทะเลสาบด้วย (คงประมาณงานรื่นเริงของเค้าแหละ เห็นมีแบบโชว์ดารแสดง+พายเรือด้วยเท้าแข่งกันด้วย) ทุกๆ ปีก็แห่กันไปทั้งห้าองค์ก็ไม่มีปัญหาอะไร ,, จนกระทั่งปีพ.ศ. 2310 ระหว่างจัดงานดันเกิดพายุเข้า ทีนี้นกการะเวกที่บรรทุกพระบัวเข็มดันล่มพลิกคว่ำ พระทั้งห้าก็เลยจมน้ำ นั่นไงครับ!!! งานเข้าเห็นๆ ทีนี้พวกชาวบ้านและคนเข้าร่วมพิธีก็พยายามงมหาพระที่จมน้ำไป งมกันแทบตายสุดท้ายกู้มาได้แค่สี่องค์ ทำเอาชาวบ้านเสียใจมากๆ แต่พออัญเชิญพระทั้งสี่กลับวัด กลับเกิดเรื่องน่าอัศจรรย์มากๆ คือ พระอีกองค์ที่จมน้ำไปดันกลับมาอยู่ที่แท่นบูชาพร้อมกับเศษวัชพืชก้นทะเลสาบพันรอบๆ องค์พระด้วย โฮๆๆๆๆ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จุดที่เรือล่ม เค้าก็ทำเสาหงษ์ปักไว้ (รูปเสาหงษ์อยู่ด้านบนนะ) ส่วนงานเทศกาลแห่พระก็ยังมีต่อนะ แต่ว่าจะแห่แค่สี่องค์เท่านั้น เพราะเค้าเชื่อว่าองค์พระที่จมน้ำไปคราวก่อนเป็นพระศรีอารยเมตไตร (หรือพระที่จะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หน้า) ซึ่งตอนนี้พระองค์ยังไม่ได้จุติขึ้น จึงยังไม่อยากเปิดตัวในตอนนี้


แมว (ไม่) กระโดด ที่วัดงะแพจอง
เวลาเราเหลือนิดหน่อย เลยแวะไปวัดงะแพจอง ซึ่งวัดนี้มีชื่อเสียงเรื่องแมวทำกายกรรม คือแมวมันกระโดดลอดห่วงน่ะครับ ,, เอ่อๆๆ ฟังดูน่าตื่นเต้นดีนะ
เห็นเค้าบอกว่าวัดนี้มีของเก่าๆ อยู่เยอะ เพราะสมัยล่าอาณานิคมอังกฤษจะมายึดทรัพย์สินต่างๆ ของพม่าไปหลายอย่าง เจ้าเมืองยองชเวเลยเอาไม้พระเก่าๆ และบัลลังก์ของพระเจ้ามินดงมาเก็บไว้แถวๆ นี้ (เห็นบอกว่าเอาเก็บไว้ใต้น้ำนะ)


พอเข้ามาในวัด นอกจากพระพุทธรูปโบราณไม้หลายองค์กับบัลลังก์ไม้สีทองแล้วก็ยังมีแมวอีกประมาณ 10 ตัว แต่เท่าที่สังเกตดูมันก็อยู่นิ่งๆ ทุกตัว พยายามดูตัวที่กระโดดๆ ก็ไม่เห็นมี เดินไปเดินมา ไปดักฟังนักท่องเที่ยวคนอื่นถามไกด์ของเค้าก็ได้ความมาว่าแมวตัวที่กระโดดได้ (เดิมมีสองตัว) ตัวนึงตายไปแล้ว อีกตัวไม่สบาย
ว่าแต่ เราก็มีไกด์ ทำไมไม่ถามวะ



โอเค… อดดูแมวกระโดด เอาแค่กราบพระ ขอพรให้เดินทางปลอดภัยละกัน
ลาอินเล ไปมัณฑะเลย์
ห้าโมงกว่า พี่ไกด์ก็ตีเรือกลับฝั่งที่ท่าเรือยองชเวครับ แพลนของเราวันนี้ไม่มีโรงแรมนะครับ แต่เราจะขึ้นรถทัวร์ไปยังมัณฑะเลย์กัน ซึ่งเค้าบอกว่ารถจะออกราวๆ สองทุ่ม
พอถึงฝั่งเราก็ต้องรีบกินข้าวแถวๆ ท่าเรือเพราะกลัวว่าจะไปกับรถทัวร์ไม่ทัน (คือถ้าไม่ทันเนี่ย เรานอนข้างทางเลยนะ) เรียกว่าสั่งไปก็เยอะ อาหารก็ช้า กูก็รีบ หิวก็หิว พออาหารลงเท่านั้นแหละเหมือนแร้งลงเลย หวดตูมๆๆๆๆๆ แป้บเดี๋ยวหมด เรียกแม่ค้าเก็บตังแม่งเอ้ยยยยย ยังมามึนอีก ช้าจริง รีบเว้ยยยยยย ,, ชำระค่าเสียหายสามหมื่นจ้าดแล้วรีบไปที่รถแท๊กซี่ที่เจ้าของร้านเค้าไปเรียกมาให้
ตอนขามามาแบบสองคันสบายๆ แต่ขาไปเราต้องยัดกันเจ็ดคนพร้อมสำภาระกองเท่าบ้าน (เข้าในเลยว่าสัม+ภาระเป็นยังไง) ทั้งกล้องทั้งคนทั้งกระเป๋าก็ยัดลงไปในรถเก่าๆ นั่นแหละ อัดกันแบบแทบจะไม่มีอากาศหลงเหลืออยู่ในรถแล้ว ท่านั่งก็เป็นทุกรกิริยา คิดย้อนไปแล้วก็งงว่าทนให้ไอ้ใหม่มานั่งตักกูได้ไงเกือบครึ่งชั่วโมงวะ แถวไอ้ใหม่นั่งท่าเอียงตัวและเกร็งท้องเกร็งขาได้ไงตั้งครึ่งชั่วโมง ฮาๆๆๆ (ส่วนด้านหลังมองไม่เห็นว่านั่งกันยังไงเพราะเหลียวไปไม่ได้ แต่รับรู้เลยว่าแน่นมากๆ) แล้วก็ขับปุเลงๆ ออกไปตอนประมาณเกือบๆ ทุ่มครึ่ง ค่าโดยสาร 15,000 จ้าด


เรานั่งปุเลงๆ รถราว 30 นาที ก็ถึงสามแยกที่เป็นจุดจอดรถทัวร์แล้วครับ ,, สอบถามได้ความว่ารถทัวร์เรายังมาไม่ถึง เย้ๆๆๆๆ นั่งรอรถกันสักพักเดี๋ยวก็คงมาละแหละ แฮ่ๆๆๆ
นั่งไปเกือบครึ่งชั่วโมงก็เงียบสนิท บ่องตงเลยว่าตอนนี้เหมือนสูญญากาศ บ่นในใจว่าจะรีบมาทำไมวะ ฮึ่ยๆๆ รถทัวร์แม่งเลทอีกละ ,, มองไปรอบๆ ก็เห็นร้านเกมก็กะจะหวดวินนิ่งกับไอ่ใหม่ก็กลัวรถจะมาระหว่างเล่นเกมอยู่แล้วผ่านเลยไป (ปล-เสือใหม่มันแอบเล็งลูกค้าสาวในร้านอยู่ แต่ทีท่าน่าจะมากับแฟนมัน) ก็เลยเปลี่ยนหันมาชดเชยความหิวที่ร้านลูกชิ้นทอดข้างๆ นั้นแทน


นั่งคุยกับแม่ค้าสนุกมากเลย แกบอกว่าแกมาจากคะฉิ่น เมื่อก่อนเคยไปทำงานเมืองไทยด้วย พูดไทยได้นิดหน่อย จากนั้นก็มาพบรักกับแฟนที่เมืองไทย แต่งงานกันแล้วอยู่ที่ยองชเว เปิดร้านขายของชำและขายลูกชิ้นทอดมาได้หลายปีแล้ว ตอนนี้แกมีลูกสองคน ลูกสาวคนโตกำลังเรียนอยู่วิทยาลัยที่ย่างกุ้ง ใกล้จะจบแล้ว หวังว่าจะเป็นกำลังสำคัญให้ครอบครัวต่อไป แถมเสือนุ้กก็สนใจ แต่ไม่มีเวลาสานต่อ โฮๆๆๆๆ
ละจะจำมาเล่าทำไมวะครับ

ระหว่างรอก็พบว่าโสร่งที่ผมซื้อมาได้หายไปแล้ว คาดว่าน่าจะหล่นบนแท๊กซี่ที่พาเราออกมาจากทะเลสาบอินเล โฮๆๆๆ เสียดายจัง ซื้อมาตั้งแพง ใส่ได้สองสามชั่วโมงเอง เดี๋ยวค่อยไปหาตัวใหม่ที่เมืองมัณฑะเลย์ละกัน
รถทัวร์คันแล้วคันเล่าผ่านไป ไม่ถึงคิวเราซักที ใจนึงก็อารมณ์ไม่ดี อีกใจก็กังวล ต้องขอบคุณป้าแม่ค้าลูกชิ้นที่ไปไถ่ถามคนขับรถให้ว่าใช่คันที่เราจะขึ้นหรือเปล่า ซึ่งกว่ารถจะมา แม่งเอ้ยยยยยยย เกือบสี่ทุ่ม เฮ้อ~~
สภาพรถทัวร์ชั้นหนึ่งที่เราซื้อมาถือว่าใช้ได้นะ ประมาณ ป.1 บ้านเราแต่สะอาดกว่า, เบาะใหญ่นั่งสบาย, มีหมอนรองคอให้, เอนได้เยอะพอตัว, มีขนม+น้ำแจกนิดหน่อย แต่แอร์หนาวมากประมาณอยู่ในตู้เย็น ถึงขั้นต้องควักเสื้อกันหนาวมาใส่เพิ่มกันเลยทีเดียว แถมเปิดเพลงเสียงดังมาก เป็น MV ศิลปินพม่า แต่ว่าไม่ใช่ปัญหาของผมหรอกครับ ขอแค่คุณปิดไฟ ผมก็หลับได้ทุกสถานการณ์


ตื่นเช้ามาก็เจอกันนะ… มัณฑะเลย์
เย้!!!
น่าไปเที่ยวมากๆ แต่ดูจากภาพแล้วสิ่งแวดล้อมก็คล้ายๆ กับเมืองไทยเหมือนกัน
ยอมรับว่าเค้าคล้ายๆ กับไทย แต่เค้าเก็บรักษาความเป็นพม่าได้ดีกว่า ดีมากในระดับที่คนเคยมองภาพลบกับพม่ามาตลอดอย่างผมกลายเป็นหลงรักเมืองเค้าไปเลย